อ.ทนัญ โหราศาสตร์ไทย ระบบธาตุ

15 กันยายน 2563

ราศีต้นธาตุ กลางธาตุ ปลายธาตุ

             จนถึงณ.ปัจจุบันก็ยังเห็นการสอนให้มือใหม่หัดท่องจำแบบผิดๆกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ก็คงเพราะว่าเหล่าอาจารย์ทั้งหลายถูกสอนมาอย่างนี้ก็เลยต้องดำเนินรอยตามๆกันไปเรื่อยๆอย่างไม่มีที่สิ้นสุด การที่เหล่าอาจารย์ทั้งหลายไม่หันมาสอนให้รู้จักการทำความเข้าใจในรายละเอียด ตามสภาพความเป็นจริงของดวงดาวและธาตุ ก็เพราะตนเองยังไม่เข้าใจแล้วจะไปสอนใครได้ล่ะ ผมพูดอย่างนี้ก็จะต้องมีคนที่เห็นแย้งว่า ระบบเค้าสอนกันมาแต่ไหนแต่ไรก็ควรที่จะต้องรักษาและสืบทอดเอาไว้อย่างนี้ ซึ่งผมก็ไม่เถียงหรอกที่จะทำการสืบทอดโหราศาสตร์ของไทย แต่อยากให้ลองหันมาสอนลูกศิษย์ลูกหาให้รู้จักการอ่านดวงชะตาด้วยดาวให้มากกว่าเรือนก็จะดีไม่น้อย แล้วค่อยๆสอนให้รู้จักว่าธาตุของแต่ละราศีมีความสำคัญกับดาวในด้านใด การที่ต้องทำความเข้าใจในความหมายดาวก็เพราะดาวนั้นจะเป็นตัวดำเนินเรื่องหรือเป็นตัวแสดง และหมายถึงนิสัยในบุคคลที่บ่งบอกด้วยดาว ส่วนธาตุราศีจะเป็นตัวที่ทำให้ดาวแสดงนิสัยของตนออกมาเป็นพฤติกรรม และดาวจะแสดงพฤติกรรมไปตามเนื้อเรื่องของความหมายเรือนในดวงชะตา

อาจารย์ที่ไม่ยอมพัฒนาชอบสอนง่ายๆในยามที่เห็นดาวเจ้าเรือนได้ตำแหน่งต่างๆเช่น เกษตร อุจ ฯลฯ ว่าเรือนนั้นๆได้ตำแหน่งตามไปด้วย ในความเป็นจริงแล้วเรือนจะไม่มีตำแหน่ง ไม่มีองศาจึงไม่มีนวางค์ มีเพียงดาวเท่านั้นที่จะมีสิ่งเหล่านี้ จึงอยากขอร้องท่านที่จะเป็นอาจารย์สอนลูกศิษย์ทั้งหลายว่าควรเปิดใจให้กว้าง แล้วปรับการสอนเสียใหม่จะดีกว่า อย่าทำให้รุ่นต่อๆไปต้องเจอการสอนที่ผิดๆสืบทอดต่อๆกันไปอีกเลย

และเพิ่งได้อ่านบทความของอาจารย์ท่านหนึ่งที่กล่าวถึงเรื่องการจัดลำดับธาตุในแต่ละราศี โดยส่วนมากเราจะเคยอ่านหรือได้รับการสอนมาว่าธาตุของแต่ละราศีมี 3 ระดับ คือ ต้นธาตุ กลางธาตุ และปลายธาตุ ในการแบ่งระดับชั้นที่สอนๆกันมาจะหมายถึงปริมาณหรือความเข้มข้นของธาตุประจำราศีนั้นๆ ซึ่งผมบอกตรงๆว่าเป็นการเข้าใจผิดอย่างสิ้นเชิง เพราะอันที่จริงนั้นระดับธาตุของแต่ละราศีจะถูกแบ่งแยกด้วยดาวเจ้าราศี(หรือดาวเกษตรประจำราศีนั้นๆ) ยกตัวอย่างเช่นราศีธาตุไฟที่ให้ราศีเมษเป็นต้นธาตุก็เพราะมีดาวอังคารเป็นเจ้าเรือน จึงเป็นไฟที่ผสมการต่อสู้,การแข่งขัน,การไม่ยอมแพ้,อารมณ์โทสะ ฯลฯ ส่วนราศีสิงห์ที่ให้เป็นธาตุไฟระดับกลางธาตุก็เพราะความหมายของดาวอาทิตย์เจ้าเรือนราศีสิงห์ ดาวอาทิตย์มีความหมายของชื่อเสียงเกียรติยศ,หน้าตา,ความสำเร็จ,ความทะเยอทะยาน ฯลฯ ทำให้ดาวที่ไปสถิตราศีสิงห์จะได้รับธาตุไฟทำให้มีพฤติกรรมที่รวดเร็วรุนแรงแต่จะมีศักดิ์ศรีหรือมีชื่อเสียงเกียรติยศค้ำคออยู่ จะทำอะไรก็มักจะต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านั้นจึงทำให้เกิดการลดทอนความแรงของไฟให้น้อยลงกว่าราศีเมษก็เพราะพฤติกรรม ไม่ใช่ปริมาณของธาตุไฟแต่อย่างใด ส่วนราศีธนูที่เป็นธาตุไฟปลายธาตุก็เพราะราศีนี้มีดาวพฤหัสเป็นเจ้าราศี ดาวพฤหัสมีความหมายในเรื่องของสติปัญญา,การศึกษา,ผู้ใหญ่,วัฒนธรรมประเพณี,ศาสนา ฯลฯ เมื่อดาวมาสถิตราศีธนูก็ทำให้เกิดพฤติกรรมที่รวดเร็วรุนแรงตามธาตุไฟ แต่จะมีสติปัญญายั้งคิด,มีผู้ใหญ่ควบคุม,รู้จักกติกาและมารยาท ฯลฯ ทำให้ธาตุไฟจากราศีธนูส่งผลด้านพฤติกรรมที่ลดทอนลงด้วยเหตุผลเช่นนี้ ไม่ใช่ปริมาณของธาตุที่ลดน้อยลงแต่อย่างใด ถ้าจะเปรียบระหว่าราศีเมษกับราศีธนูก็เหมือนคนที่มีความกล้าเท่ากันแต่สติปัญญาที่ต่างกันด้วยสาเหตุแห่งดาวเจ้าราศีนั่นเอง

เมื่ออ่านถึงตรงนี้ก็หวังว่าผู้อ่านน่าจะพอเข้าใจความแตกต่างในระดับธาตุอื่นๆของแต่ละราศี อย่าไปคิดในเรื่องปริมาณธาตุเป็นอันขาดจะทำให้การทำนายผิดพลาดขึ้นอย่างแน่นอนครับ

ในคราวหน้าจะมาบ่นในเรื่องของการแบ่งราศีเป็นเรื่องพฤติกรรมใน 3 ระดับคือ จรราศี สถิรราศี และอุภัยราศี ว่าที่จริงแล้วเรื่องทำนองนี้ใช้ได้จริงหรือไม่ในการนำมาทำนายดวงชะตา 

ดาวที่ได้ตำแหน่งในโหราศาสตร์ไทย

                  เกษตร , ประ , อุจ , นิจ , มหาจักร , ราชาโชค ฯลฯ คือตำแหน่งมาตรฐานของดาวที่มีคุณสมบัติที่ดีขึ้นหรือร้ายมากขึ้น  ซึ่งเป็นผลที่เกิดขึ้นตามราศีที่ดาวนั้นๆไปสถิต  การจะนำความหมายดาวได้ตำแหน่งมาตรฐานมาใช้ควรจะทำความเข้าใจในความเป็นจริง ไม่ควรนำความหมายทั้งหมดจากตำรามาใช้เพราะดาวแต่ละดวงมีความหมายที่ไม่เหมือนกัน และแต่ละราศีก็มีความหมายรวมถึงธาตุที่แตกต่างกันด้วยเช่นกัน 

ดังนั้นการใช้ความหมายของดาวที่ได้ตำแหน่งโดยเหมารวมกันทั้งหมดตามตำราก็อาจเป็นสิ่งที่ผิด ยกตัวอย่างเช่นดาวอังคารเป็นเกษตรในสองราศี ก็จะมีความหมายที่แตกต่างกันในเรื่องของธาตุคือราศีเมษที่เป็นธาตุไฟก็จะเป็นผลด้านกระตือรือร้น,ฉับไว,กระฉับกระเฉงและให้ความรุนแรงที่มากกว่าราศีพิจิกที่เป็นธาตุน้ำ ราศีธาตุน้ำมักส่งผลให้ดาวที่มาสถิตเกิดความร่มรื่น,มีน้ำใจ,ไม่กระตือรือร้น,โลเล ดังนั้นดาวอังคารที่เป็นเกษตรในสองราศีนี้ก็มีพฤติกรรมที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง   หรืออีกตัวอย่างก็คือดาวศุกร์ที่เป็นเกษตรในสองราศีคือพฤษภและตุลย์ก็มีความแตกต่างกันในเรื่องธาตุเช่นกัน ดาวศุกร์ในราศีพฤษภจะมีความมั่นคงมากกว่าดาวศุกร์ในราศีตุลย์เพราะธาตุดินกับธาตุลมจะส่งผลในความแตกต่างด้านพฤติกรรมของดาวศุกร์ ธาตุดินส่งผลด้านการสะสม,ความมั่นคง,ความหนักแน่น,สม่ำเสมอ แต่ธาตุลมจะทำให้เกิดผลด้านการเคลื่อนไหว,ความเลื่อนลอย,ความไม่ใส่ใจ,การขยายตัว ดังนั้นดาวศุกร์ในสองราศีนี้แม้จะเป็นเกษตรเหมือนกันแต่ก็มีพฤติกรรมที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง


อีกประการคือหากเราใช้มาตรฐานดาวมาเป็นตัวตัดสินเรือนชะตานั้นก็เป็นการใช้ผิดประเภท เพราะเราจะต้องแยกแยะให้ออกระหว่างดาวและเรือน ดาวที่ได้มาตรฐานเป็นเรื่องของดาว แต่เรือนนั้นไม่ได้มาตรฐานตามไปด้วยเพราะเรือนไม่มีราศี,ไม่มีธาตุ เรือนเป็นเพียงตัวกำหนดเรื่องราวให้ดาวนั้นแสดงไปตามที่ดวงชะตาจักราศีกำหนดเอาไว้ แต่ปัจจุบันนี้มีการใช้ที่ผิดกันมาตั้งแต่ต้นเพราะเริ่มเรียนโหราศาสตร์ก็มักได้รับการสอนผิดๆ แบบเห็นดาวได้มาตรฐานก็นำความหมายของตำแหน่งดาวเข้าไปเป็นเรือนที่ได้ตำแหน่งในทันที ซึ่งเป็นวิธีที่ผิดจากความเป็นจริงในหลักโหราศาสตร์ไทย แล้วพอใช้บ่อยๆเข้าก็จะติดนิสัยและแก้ไขได้ยากเมื่อมีใครมาบอกว่าผิดก็จะเกิดอคติต่อกันในทันที ดังนั้นในขั้นต้นของการศึกษาโหราศาสตร์จึงต้องทำความเข้าใจกับความหมายดาวให้มากที่สุด ทำความเข้าใจกับราศีแต่ละราศีให้มากที่สุด เริ่มต้นเท่านี้ก็ทำให้เข้าใจความหมายของดาวที่ได้ตำแหน่งมาตรฐานอย่างแท้จริงมากขึ้น อย่าเอาความหมายดาวที่ได้ตำแหน่งมาตรฐานที่มีสอนอยู่ในตำรามาใช้โดยขาดการไตร่ตรอง.. เพราะจะผิดตั้งแต่ยังไม่ได้ทำนายดวงชะตาเลยนะครับ 
ดูน้อยลง

บทนำ

โหราศาสตร์ไทยมีอยู่คู่เมืองไทยมาเป็นเวลานาน  และก็มีการสอนอยู่ด้วยกันหลากหลายสำนักโดยมีครูอาจารย์ผู้ทรงความรู้เป็นผู้เผยแพร่ความรู้ให้กับคนทั่วๆไป 

ระบบธาตุก็เป็นส่วนหนึ่งของโหราศาสตร์ โดยถือว่าเป็นพื้นฐานที่สำคัญอย่างมาก  และผู้ที่มีความชำนาญก็พัฒนาจากพื้นฐานเพื่อไปใช้ในการทำนายดวงชะตาได้เป็นอย่างดี   ระบบธาตุนี้ไม่มีการใช้ความหมายของตำแหน่งดาวทุกอย่างและไม่ใช้กฎเกณฑ์ที่มีสอนกันทั่วไป  เป็นการนำตรรกกะที่แท้จริงของดวงดาวและราศีมาพิจาณาดวงชะตา 

ดังนั้นการจะใช้ระบบธาตุให้เกิดความชำนาญนั้นจะต้องมีความรู้ด้วยกัน 6 ประการคือ
1.ความหมายดาว  2.ธาตุของดาว  3.ความหมายราศี  4.ธาตุราศี  5.ดาวพระเคราะห์คู่  6.มุมสัมพันธ์
หลักทั้ง 6 ประการนี้คือพื้นฐานที่สำคัญของระบบธาตุ  แต่ที่ผมไม่ได้ระบุว่าสามารถนำไปใช้กับโหราศาสตร์ระบบทั่วไปด้วย ก็เพราะโหราศาสตร์ระบบทั่วไปมักคุ้นชินกับการใช้ตำแหน่งดาวต่างๆ(เกษตร,อุจ,มหาจักร ฯลฯ) และยังมีการสอนในเรื่องของดาวพระเคราะห์คู่และมุมสัมพันธ์ที่ยังไม่ถูกต้องมากนัก  ดังนั้นพื้นฐานทั้ง 6 ประการนี้จึงเหมาะกับระบบธาตุมากกว่า  แต่หากมีบางท่านจะนำไปประยุกต์กับระบบอื่นก็คงไปห้ามกันไม่ได้  ก็ขอร้องเพียงแต่ว่าอย่านำไปผสมปนเปจนขาดหลักการสำคัญเท่านั้นก็พอ  

ขอให้ท่านที่เข้ามาหาความรู้ใน Blog นี้จะนำความรู้ไปพัฒนาตนเองให้มากที่สุด  และหากมีข้อสงสัยในจุดใดก็สามารถส่งคำถามเข้ามาได้ด้วยนะครับ